
เรื่องของ“แบน บล็อก และความเขิ่ง”
โดย Devil Girls
ไทยบล็อก(block)ยูทิวบ์หลังพบคลิปหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รัฐบาลทหารพม่าปิดกั้นการเข้าถึง
blogger.comและจับบล็อกเกอร์คนสำคัญของ NLD เว็บไซต์สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันถูกปิด ศาลฝรั่งเศสสั่งแบนเว็บไซด์นักเรียนให้คะแนนครู จีนบล็อกยูทิวบ์เหตุแพร่ภาพประท้วงจีนในทิเบต ญี่ปุ่นเล็งควบคุมเว็บไซด์ข่าวที่มีคนเข้าอ่านมากและมีอิทธิพล็ ปากีสถานบล็อกยูทิวบ์อ้างพบคลิปหมิ่นศาสนาอิสลาม วิศวกรหนุ่มชาวโมร็อคโกถูกตัดสินจำคุก๓ปีหลังเล่นfacebook(คล้ายHi5) เพราะใช้ชื่อพระอนุชาคนสุดท้ายของกษัตริย์เข้าล็อคอิน บล็อกเกอร์จำนวนมากถูกแบนเว็บบล็อก(weblog)ของตัวเองจากผู้ดูแลระบบ บราซิล อิหร่าน โมร๊อคโค ซาอุดิอาระเบีย ซีเรีย ไทย ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คือรายนามประเทศที่เคยบล็อกและกำลังบล็อกยูทูบว์
ทั้งบล็อกทั้งแบน อุ๊แม่เจ้า !!
ถ้าอ่านผ่านกรณีข้างต้นมาถึงตรงนี้แล้วยังรู้สึกว่าก็ไม่เป็นอะไรนี่ บล็อกก็บล็อก แบนก็แบน Devil Girls ก็ขอแนะนำให้เปิดไปอ่านหน้าอื่นดีกว่าเจ้าค่ะจะเป็นประโยชน์กว่าเยอะ แต่สำหรับใครที่ยังอยากรู้ต่อว่าแล้วจะทำยังไงกันดี ทำไมมันเป็นอย่างนี้(วะ) หรือไอ้สิ่งที่เกิดนี่มันไม่ใช่เรื่องธรรมดาในพื้นที่แห่งเสรีภาพนี้เสียแล้ว อย่างนั้นคุณก็เปิดถูกหน้าแล้วล่ะ!!
พอเกิดปรากฏการณ์ตามบี้ตามแบนกันบ่อยเข้า ก็เกิดคำถามกับโลกเสมือนที่(น่าจะ)เสรีและไร้พรมแดน โลกเสมือนที่ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้และไม่มีอะไรที่จะค้นไม่พบ(เว้นแต่จะหาไม่เป็นเอง) อันเป็นพื้นที่ที่ไม่ควรมีใครเป็นเจ้าของ(แต่ที่ต้องการหรือพยายามจะเป็นน่ะมีเยอะ) การปิด การแบน(ban) หรือบล็อก(block)จึงไม่ใช่แค่สกัดกั้นไม่ให้เข้าถึงข้อมูลหรือทำลายเสรีภาพในการแสดงความเห็น แต่ยังเป็นการปะทะกับตัวตน กับการแสวงหาตัวตน และอำนาจของปัจเจกชนนับล้านอย่างกรณีแบนเว็บบล็อก(weblog/blog) ที่ทำให้ผู้สร้างบล็อกเข้าใช้งานในบล็อกตนเองไม่ได้ ทั้งยังกระทบกับความสัมพันธ์ของเครือข่ายหรือชุมชนขนาดใหญ่ อย่างการบล็อก(block)เว็บยูทิวบ์หรือเว็บไซต์ยอดนิยมต่างๆ
มานั่งนึกๆดู การ “แบน ปิด บล็อก” ที่กระทำต่อวัฒนธรรมอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีลักษณะเหมือนปลาดาวที่สร้างปลาดาวตัวใหม่ได้จากระยางที่หลุดออกไป มากกว่าจะเป็นแมงมุมที่แค่โดนเด็ดหัวก็ซี้แหง ช่างเป็นการกระทำที่ “บูด บิดเบี้ยว และเขิ่ง” เอามากๆของผู้มีอำนาจทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นรัฐ เว็บมาสเตอร์หรือผู้ดูแลระบบ ซึ่งน่าจะมีเป้าหมายเพื่อการเชือดไก่ให้ลิงดูมากกว่าต้องการลงโทษผู้กระทำจริงๆ
มานั่งนึกๆดูก็น่าเห็นใจผู้มีอำนาจพวกนี้อยู่หรอกที่ทำอะไร “บูด บิดเบี้ยว และเขิ่ง” แบบนี้ออกมา ก็คงด้วยความ “ไม่ประสา” กับโครงสร้าง การทำงาน หรือกลไกของโลกเสมือนที่ขับเคลื่อนไปด้วยพลังที่มองไม่เห็น มีพื้นที่กว้างใหญ่ ทั้งควบคุมจัดการได้ยากกว่าเดิม แถมเต็มไปด้วยช่องทางการกระจายข้อมูล(ที่ประชาชนไม่ควรรู้)อยู่สารพัด เต็มไปด้วยมือสมัครเล่นที่สลายอำนาจผูกขาดและการครอบงำจากผู้เชี่ยวชาญ เป็นพื้นที่ที่ทุกคนมีตัวตนได้และไม่ใช่แค่ผู้ถูกดู ที่ผ่านมา อำนาจ “รัฐ” คุ้นเคยแต่กับม๊อบที่วิ่งไล่จับแกนนำได้เป็นตัวๆหรือฝูงชนที่สลายกันให้เห็นๆได้เลย พอมาเจอ“วัฒนธรรมใหม่”เลยได้แต่สร้างดวงตาที่ไร้คุณภาพมาคอยสอดส่องเท่าที่จะมีปัญญา และหากเป็นอำนาจ”ทุน” ก็คุ้นเคยกับการเป็น “เจ้าข้าวเจ้าของ“ หรืออภิสิทธิ์ของคนเฉพาะกลุ่ม พอนึกอยากเล่นกับเขาบ้างด้วยการเปิดให้บริการพื้นที่เขียนเว็บบล็อก และด้วยการประกาศว่าทุกคนเป็นนักข่าวได้… พี่แกก็แสดงความเป็นเจ้าของและอาการ“เห่อ”ของใหม่ออกมาได้“เขิ่ง”เป็นที่สุด ซึ่งแสดงถึงความอ่อนหัด ทั้งไม่เข้าใจโครงสร้างหรือวัฒนธรรมในพื้นที่นี้สักเท่าใดนัก เลยนำวิธีคิด วิธีควบคุมสื่อทีวีหรือหนังสือพิมพ์แบบเก่าๆมาใช้จัดการ อย่างการแบนเว็บบล็อกที่ขัดต่อความเชื่อของตัวเอง ทั้งยังทิ้งซากไว้ประจานให้ลิงดูอีกต่างหาก ขออภัยครับบล็อกนี้ถูก แบน !!!!! แต่คงลืมไปว่า ลิงบางตัวก็ไม่กลัวนาน แล้วไก่อีกหลายตัวตายยากกว่าที่คิด
ยิ่งปิดยิ่งปูด
การได้เข้าไปในพื้นที่ “ต้องห้าม” ได้เป็นเรื่อง“ท้าทาย”พลเมืองในโลกไซเบอร์เป็นที่สุด เพราะมันเป็นแบบหนึ่งของการแสดงตัวตนและความเจ๋งให้เป็นที่ประจักษ์ เมื่อเกิดการปิดเว็บไซต์หรือแบนเว็บบล็อกจึงไม่ได้มีแต่คำว่า“ก็ได้” แต่จะเกิดการกระจาย ”วิธีการเข้าเว็บไซต์ที่ถูกปิด” ให้เกลื่อนหน้าจอ เกิดเว็บบล็อกของ “ไก่ที่ถูกเชือด”ผุดขึ้นมาในพื้นที่บริการอื่นที่มีให้เลือกมากมาย และมีคนเข้าอ่านเยอะกว่า เพื่อตะโกนให้คนอื่นมองเห็นความเขิ่งของ“พื้นที่เก่า” หรือเกิดกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพในโลกไซเบอร์ขึ้นมาให้เราเห็นเป็นบุญตา เช่น กลุ่มขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด , กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย (FACT) ซึ่งเขียนจดหมายพุ่งตรงไปถึงซีอีโอของกูเกิ้ลทันทีที่มีท่าที“บ้าจี้”จะมาช่วยสอนให้รัฐไทยเซ็นเซอร์เฉพาะ“บางคลิป“ ในยูทิวบ์ที่เห็นว่ามีปัญหา แทนการปิดทั้งเว็บ(แบบโง่ๆ)อย่างที่ทำอยู่ หรืออย่างมูลนิธิ EFF ในอเมริกา ก็ก่อตั้งมาเพื่อช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมในโลกไซเบอร์ และรณรงค์ต่อต้านการออกกฎหมายควบคุมที่ไม่เข้าท่า ต่อต้านการดักฟังโทรศัพท์ การแอบดูข้อมูลการใช้อินเทอร์เน็ต ฯลฯ EFFยังจัดมอบรางวัล Pioneer Awards เป็นประจำทุกปี โดยให้แก่บุคคล องค์กร หรือเครือข่ายที่มีผลงานใดๆก็ตามที่จะนำไปสู่เสรีภาพในการใช้และเข้าถึงสื่ออินเทอร์เน็ตได้
แล้วเพื่อไม่เห็นเป็นแค่การมาบ่นพร่ำไปวันๆ Devil Girls เลยรวบรวมข้อเสนอมาจากสองไก่ เอ้ย! สองหนุ่มที่เคยโดน“แบนบล็อก”มาเป็นแนวทางไว้ เผื่อเกิดสึนามิแบบนี้กับคุณเข้าให้บ้าง ก็ถ้าเกิดอาการล็อกอินไม่ได้ หรือได้แต่เขียนอะไรไม่ได้เลย , เปิดเข้าไปแล้วมีตัวการ์ตูนหน้าประหลาดยกมือไหว้จนรับไหว้แทบไม่ทัน , เนื้อหาบางส่วนหายไป , หน้าบล็อกขาวโพลน ฯลฯ นั่นแหละ สันนิษฐานว่าโดนเข้าให้แล้ว ส่วนเว็บไซต์ที่ถูก ”จัดการ” จนเข้าไม่ได้ ก็มีวิธีการมาฝากเหมือนกันเจ้าค่ะ ทั้งหมดนี่ก็ด้วยความอยากลองดีและนึกสงสัยครามครันว่า ใครกันหนอ เป็นผู้ที่จะมีสิทธิตัดสินหรือสมควรตัดสินว่าข้อมูลใดควรได้รับการเผยแพร่หรือควรเป็นความลับ ซึ่งดูเหมือนทุกวันนี้บรรทัดฐานจะอยู่แค่ว่า เป็นสิ่งที่ ไม่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หากมาตรวัดของประเทศไทย(และประเทศอื่นๆ) ยังมีอยู่เพียงเท่านี้ Devil Girls ก็ขอให้วัฒนธรรมการ “หลบเลี่ยง” จงเจริญยิ่งๆขึ้นเถอะ ยะฮู้!!!
ข้อควรทำเมื่อถูกแบนเว็บบล็อก
๑. รวบรวมสติของคุณให้ดี ปรับจังหวะการหายใจให้เป็นปกติ โปรดจำไว้ว่าไม่ใช่คุณคนเดียวที่โดนแบน ผมก็โดนเหมือนคุณแหละครับ
๒.ถ้าคุณยังสามารถล็อกอินเข้าสู่ระบบได้อยู่ ตรวจสอบให้ดีก่อนว่าเป็นการแบนประเภทไหน แบนเป็นบางเนื้อหา แบนแล้วยังเข้าระบบได้ หรือแบนทั้งหมดทั้งสิ้น ซึ่งก็คือไม่ได้แบนในสิ่งที่คุณเขียน แต่แบนที่ตัวคุณนั่นแหละ (เหมือนที่ผมโดน) ก็สงบสติแล้วแผ่เมตตาให้เขา(ผู้ดูแลระบบ)สักพักก่อนจะเริ่มค้นหาอีเมล์ของเขา แต่โดยมากผู้ดูแลจะต้องเปิดบล็อก ตุ่น ๆ ไว้หนึ่งบล็อกเพื่อติดต่อกับบล็อกเกอร์ทั้งหลาย
๓.ถ้าคุณยังล็อกอินได้อยู่แล้วยังสามารถพิมพ์ข้อความแสดงความคิดเห็นในบล็อกอื่น ๆ ได้ด้วย ก็เข้าไปแสดงตนว่าคุณรู้แล้วว่าโดนแบนในบล็อกตุ่นๆของเขานั่นแหละ อาจใช้ถ้อยคำที่จะทำให้ผู้ดูแลระบบประสาทเสียไปสักพัก
๔. หลังจากนั้นให้เปิดบล็อกใหม่ครับ ถ้าโดนแบนไอพีแอดเดรสด้วย ให้หาโปรแกรมโกงไอพีมาใช้ หรือไม่ก็ใช้เครื่องตามร้านอินเทอร์เน็ต (และควรจะไปไกล ๆ บ้านสักหน่อย เผื่อเขาไล่ตามได้) ถ้าต้องใช้รหัสบัตรประชาชน ให้ใช้รหัสและชื่อนามสกุลของคนที่เป็นมิตรแท้กับคุณ เมื่อเปิดบล็อกอีกครั้ง(ในพื้นที่เดิม)ได้แล้ว ให้เขียนเนื้อหาที่ “เล่น”กับผู้ดูแลให้สนุกไปเลย
๕. หากไม่มีใครให้คุณยืมชื่อนามสกุลรวมทั้งหมายเลขบัตรประชาชน ให้คุณย้ายไปอยู่ที่บล็อกอื่น ๆ สร้างชุมชนขึ้นมาครับ รวมกลุ่มกันโวยวาย แต่ควรจะเป็นลักษณะสัญลักษณ์ อย่าตรงจนเกินไป อย่าหยาบ (เพราะจะไม่น่าเชื่อถือ) ควรสวมบทบาทของนักประชดประชันผู้มากล้นด้วยสีสันและความรุ่มรวยทางศิลปะ เขียนเป็นภาษาอังกฤษได้ยิ่งดีหรือจ้างนักแปลเสียเลยจะได้ส่งไปทั่วโลก ทำให้ระบบเว็บบล็อกที่เก่า(ที่แบนคุณ)กลายเป็นดีสนีย์แลนด์ของเหล่าบรรดาผู้ที่โดนแบน โดยอย่าลืมส่งลิ้งค์เป็นสาส์นเชิญไปให้ผู้ดูแลระบบของคุณเข้ามาอ่านด้วย
๖. แล้วหากมีผู้ใช้งานซึ่งเป็นใครก็ไม่รู้ ได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นในเว็บบล็อกแห่งใหม่ของคุณ ในทำนองเข้าข้างที่เก่าของคุณล่ะก็ เตรียมตัวดีใจได้เลยเพราะแสดงว่าเป้าหมายของคุณที่ชักจะเหลืออดแล้วล่ะ ครั้นจะเข้ามาอย่างโจ่งแจ้งก็กระไรอยู่ เลยปลอมตัวเข้ามาอย่างเหนียม ๆ
๗. ถ้าได้ผลแบบข้อ ๖. ก็ถือโอกาสนี้ใช้คำประเภท “ผมเตือนคุณแล้ว” บอกเขาไป และพูดถึงเสรีภาพในการพูดและการเขียนให้มาก ๆ พูดถึงเรื่องสิทธิในการแสดงออกต่าง ๆ
อ้อ… โดยทั้งนี้ คุณต้องมั่นใจเสียก่อนว่า เขาไม่ได้แบนเพราะคุณทำตัวห่วย ๆ เองนะครับ…
ไมค์ เอช
๑. ตรวจสอบการใช้งานของคุณว่าผิดกฏกติกาข้อไหนของบล็อกดังกล่าวหรือไม่ หากพบว่าคุณไม่ได้ทำผิดใดๆ ให้นึกทบทวนว่าได้กระทำอะไรบ้างที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด หรือทำให้ผู้ดูแลไม่ชอบขี้หน้าคุณหรือเปล่า อย่างเช่นไปวิจารณ์การทำงานอันไม่เป็นสัปปะรดของเขา (อย่าลืมว่าบางครั้งเว็บมาสเตอร์งี่เง่าก็มักใช้อำนาจในทางมิชอบอยู่บ่อยครั้ง )
๒. เปิดบล็อกแห่งใหม่ทันทีที่บล็อกของคุณถูกสั่งปิด ขอแนะนำให้เป็นบล็อกที่เปิดให้บริการ
ในต่างประเทศ เช่น http://www.blogger.com หรือ http://www.wordpress.com จะได้ใช้บล็อกแห่งใหม่เป็นกระบอกเสียงของคุณได้ในทันที ทั้งสองบล็อกที่แนะนำสมัครได้ไม่ยุ่งยากภายในไม่กี่นาทีและมีฟังก์ชั่นการใช้งานเป็นภาษาไทยแล้ว ค่อยๆเรียนรู้การใช้งานไป ซึ่งไม่ยากกว่าความสามารถของคุณแน่นอน
๓. โพสเรื่องราวความเป็นมากรณีที่บล็อกของคุณถูกแบน พร้อมกับลงข้อความเดียวกันตามเว็บบอร์ดต่างๆที่คุณคิดว่ายังมีผู้คนที่รักความยุติธรรม อย่างน้อยเรื่องการแบนอย่างขาดจริยธรรมจะได้ไม่ถูกเก็บเงียบ มันสำคัญตรงที่เป็นการแสดงเจตนารมณ์ว่า คุณไม่ได้ยอมให้ความอยุติธรรมดำรงอยู่อย่างสง่าผ่าเผยต่อไป นอกจากนี้คุณต้องพยายามแนะนำให้เพื่อนๆ อ่าน และช่วยกันส่งต่อไป ให้ได้รับรู้ในวงกว้าง
ปุถุชน
**ไมค์ เอช และ ปุถุชน (และอีกหลายคน) ถูกแบนเว็บบล็อกตัวเอง ซึ่งเปิดให้บริการโดยบริษัทสื่อใหญ่แห่งหนึ่ง โดยสันนิษฐานว่ามีเหตุมาจากการที่นำบทความ “Your Blog Is Banned By Me, Your Second Big Brother” ของบล็อกเกอร์คนหนึ่ง ที่เขียนวิจารณ์การทำงานของผู้ให้บริการนั้นๆ มาลงเผยแพร่ในบล็อกของตน ในกรณีของปุถุชน เริ่มจากการจัดรูปแบบบล็อกที่ทำให้พื้นที่โฆษณาเหลือน้อยจนถูก”ตักเตือน”จากผู้ดูแล แต่ก็ยิ่งทำให้นึกสนุก เลยท้าท้ายต่อเนื่องด้วยการเขียนบทกวีเสียดสี “ฮิตเลอร์หวัดดีพวก!!!” แล้วนำออกเผยแพร่ในอีกเว็บบล็อกหนึ่ง รวมทั้งตั้งกระทู้ถึงการทำงานและบรรทัดฐานของผู้ดูแลระบบ ซึ่งมีผู้เข้าอ่านและแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก แต่ในที่สุดก็ทำให้ “ที่เก่า” ถูกแบนอย่างสมบูรณ์ตลอดกาลนาน ปัจจุบันปุถุชนได้อำลาไปสร้างสาธารณรัฐกวีนิพนธ์ยัง wordpress.com อย่างไม่ลืมจะสร้างอนุสรณ์รำลึกให้กับ “เสรีภาพของสื่อและเว็บมาสเตอร์แสนเขิ่ง” ผู้นั้น (ตามอ่านกรณีเซ็นเซอร์แบนบล็อกด้วยวิจารณญาณของคุณเอง ได้ที่ อ่านกรณีเซ็นเซอร์และแบนบล็อกต่อได้ที่ www.iteau.wordpress.com/2008/01/11/blogcensorshipthai/ และ www.putushon.wordpress.com
ถึงปิดก็จะเข้า
วิธีเข้าเว็บไซต์ที่ถูกปิดมีหลายช่องทาง เรียกกันว่าเทคโนโลยีหลบเลี่ยง แต่ขอเก็บมาฝากพอหอมปากหอมคอก่อนแล้วกัน ซึ่งใครจะเลือกใช้แบบไหนก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความเร็วอินเทอร์เน็ต ความเข้าใจทางเทคนิค ทักษะ มีคนรู้จักที่ไว้ใจได้อยู่ในประเทศที่ไม่ถูกปิดกั้น ความสำคัญของข้อมูล ฯลฯ
พร็อกซี่เซิร์ฟเวอร์ (proxy server)
เป็นตัวกลางในการเก็บข้อมูล โดยดึงข้อมูลจากที่ต่างๆมาอยู่ในนี้เพื่อการเรียกใช้ได้ง่ายและเร็ว ด้วยการทำงานแบบตัวกลางทำให้สามารถเชื่อมต่อระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ของเรากับเว็บไซต์ปลายทาง(ที่ถูกปิด)ได้โดยปกปิดต้นทางที่แท้จริง ไอพีที่ปรากฏจะเป็นของเครื่องพร็อกซี่ แต่การเข้าเว็บไซต์ที่ถูกปิดจะต้องเป็นไอพีของพร็อกซี่ในต่างประเทศด้วย เราสามารถหาพร็อกซี่เซอร์เวอร์ที่มีไอพีต่างประเทศด้วยการค้นคำว่า unblock proxy ในกูเกิ้ล ซึ่งก็จะปรากฏเว็บไซต์นี้ขึ้นมาราว ๑,๗๕๐,๐๐๐ ลิงค์ !!! แล้วก็เพียงแค่พิมพ์ URL ของเว็บไซต์ที่ถูกปิดลงไปเป็นอันเสร็จสิ้นพิธีกรรม นี่เป็นวิธีอย่างง่ายที่สุด เหมาะกับการดูข้อมูลที่ไม่สำคัญมาก ใช้ในสถานการณ์ความเสี่ยงต่ำ แต่อาจไม่สามารถเข้าเว็บไซต์ที่ต้องล็อคอินก่อนได้ แล้วด้วยความง่ายก็ทำให้ผู้กรองข้อมูลค้นเจอง่ายเหมือนกันแล้วก็จะจัดการปิดมันซะด้วยเลย หลักการซ่อนต้นทางแบบพร็อกซี่นี้เป็นพื้นฐานของเทคโนโลยีหลบเลี่ยงทั้งหมด
ซอฟแวร์หลีกเลี่ยง
เป็นโปรแกรมสำหรับเข้าเว็บไซต์ที่ถูกบล็อก(block) ซึ่งวิธีการคือนำโปรแกรมประเภทนี้มาลงในคอมพิวเตอร์ของเรา แล้วเมื่อเราเปิดหน้าเบราเซอร์เพื่อเข้าเว็บไซต์ทั่วและที่ถูกปิด โปรแกรมตัวนี้ก็จะทำงานคู่กันไปโดยจะปกปิดไอพีที่แท้เช่นเดียวกับพร็อกซี่(แต่โปรแกรมเหล่านี้ทำงานซับซ้อนกว่า) โปรแกรมหลบเลี่ยงมีให้เลือกหลายชนิด เช่น Tor ,Torbutton , FoxyProxy , UltraSurf , Psiphon , OperaTor(ตัวนี้ไม่ต้องติดตั้งเลยใช้งานตามร้านอินเทอร์เน็ตได้) ดาวน์โหลดโปรแกรมหลีกเลี่ยงฟรีได้ที่ www.mininova.org/tor/752343 หรือค้นหาจากกูเกิ้ลด้วยคำว่า censorship circumvention software , anti-censorship software , anonymous proxy เป็นต้น
แล้วถ้าอยาก“หลีกเลี่ยง”ให้ได้มากกว่านี้ ก็ตามไปเจอกันที่ www.facthai.wordpress.com
*เรื่องของ“แบน บล็อก และความเขิ่ง” จากคอลัมน์ ลองD โดย Devil Girls ปาจารยสาร ปีที่ ๓๒ ฉบับที่ ๔ มีนาคม-เมษายน ๒๕๕๑
Filed under: Protest | 10 Comments »